พฤศจิกายน 24, 2024

ซีพีเอฟ จับมือหอการค้าญี่ปุ่น ส่งมอบโรงเลี้ยงไก่ไข่ช่วยโรงเรียนชนบทพื้นที่นครพนม

เครือซีพี – ซีพีเอฟ โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จับมือ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (JCC) สานต่อโครงการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่ออาหารกลางวัน ช่วยโรงเรียนชนบท นำร่อง นครพนม 4 แห่ง ค่ากว่า 1.5 ล้านบาท เดินหน้าสู่ปีที่ 36 สร้างโภชนาการอาหารให้เด็กนักเรียน ช่วยลดปัญหาขาดแคลนอาหารกลางวัน

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ที่โรงเรียนบ้านนาคำ ต.บ้านค้อ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม พร้อมด้วย นายโคโซ โท รองประธานหอการค้าญี่ปุ่น และประธานส่วนการศึกษา คณะกรรมการฝ่ายความช่วยเหลือสังคม นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้ช่วยบริหารสำนักประธานคณะกรรมการบริหาร ซีพีเอฟ ในฐานะกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท นายวราราชย์  เรืองศรี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ผู้แทนรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ และนายชนะ สุ่มมาตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการแนะแนว รักษาการ ในตำแหน่งที่ปรึกษา ด้านการศึกษาและผู้ด้อยโอกาส สพฐ. ผู้แทนเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ร่วมมอบโครงการเลี้ยงไข่ไก่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โดยความร่วมมือของ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ หรือ เจซีซี ดำเนินการมาแล้วต่อเนื่องเป็นปีที่ 36 สำหรับในปีนี้ ได้ส่งมอบโครงการให้กับโรงเรียน ในพื้นที่ จ.นครพนม จำนวน 4 แห่ง รวมงบประมาณ จำนวน 1.5 ล้านบาท คือ โรงเรียนบ้านนาคำ ต.บ้านค้อ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม โรงเรียนบ้านนาเต่า ต.บ้านค้อ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม โรงเรียนพระซองวิทยาคาร ต.พระซอง อ.นาแก จ.นครพนม และโรงเรียนบ้านค้อ ต.บ้านค้อ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม

สำหรับโครงการ เลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ได้สนับสนุนก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ต้นแบบ ควบคู่กับการดูแลด้วยระบบเทคโนโลยี และฝึกอาชีพให้กับนักเรียนได้เรียนรู้ถึงการเลี้ยงไก่ไข่ ในระบบมาตรฐาน จากการนำเทคโนโลยีเข้ามาดูแลช่วยเหลือ ผ่านระบบกล้องวงจรปิด การตรวจวัดอุณหภูมิโรงเรียน เพื่อลดการป่วยติดเชื้อ ได้ผลผลิตไข่ไก่มากขึ้น พร้อมสนับสนุนแม่พันธุ์ จำนวน 150 ตัว พร้อมออกไข่ มีระยะเวลาให้ผลลิตไข่ไก่ นานกว่า 14 เดือน ผลผลิตไข่ไก่วันละประมาณ 100-120 ฟองต่อวัน ถือว่าเพียงพอในการสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนขนาดเล็ก ลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณรัฐ ให้เด็กนักเรียนมีโภชนาการที่ดี ในครั้งนี้ นอกจากจะมีพิธีรับมอบโครงการ ยังได้นำคณะเยี่ยมชม ผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านจากกลุ่มอาชีพในชุมชน การส่งเสริมอาชีพแก่นักเรียน รวมถึงเยี่ยมชมโรงเลี้ยงไก่ไข่ต้นแบบ อีกทั้งยังได้ร่วม สาธิตทำเมนูไข่เจียว ให้นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันอีกด้วย

ด้าน นายจอมกิตติ ศิริกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 36 ได้ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มาตั้งแต่ปี 2532 โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตาม “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน”  มาดำเนินการสานต่อใน “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและในถิ่นทุรกันดาร ได้บริโภคไข่ไก่อย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างโภชนาการที่ดี และการเติบโตสมวัย ทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญด้านการจัดการอาชีพเกษตรเชิงธุรกิจให้กับครู นักเรียน ได้เรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจเกษตร สามารถบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่จำหน่ายให้แก่ชุมชน สร้างรายได้หมุนเวียน ต่อยอดขยายผล เกิดเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

ต่อมา ในปี 2543 ได้เข้าร่วมผนึกกำลังกับหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (JCC)  จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 24 ปี โดยเป็นหนึ่งในภาคีสำคัญที่ให้การสนับสนุนโครงการ ถือเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงโภชนาการที่ดี ให้แก่นักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และชุมชนในถิ่นทุรกันดาร ล่าสุด ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับโครงการเลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 4 โรงเรียนในพื้นที่ จ.นครพนม ทั้งนี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องร่วมกับเครือข่ายหลายภาคส่วนในการดำเนินโครงการ มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน 959 โรงเรียนทั่วประเทศ มีนักเรียนกว่า 180,000 คน คุณครูและบุคลากรทางการศึกษากว่า 1,300 คน ตลอดจนชุมชน ได้เรียนรู้ทักษะการเลี้ยงไก่ไข่ การจัดการบริหารฟาร์มขนาดเล็ก และประยุกต์กิจกรรมสู่การเรียนการสอน ทำให้เกิดแหล่งเรียนรู้ในชุมชน รวมทั้งผลผลิตไข่ไก่จากโครงการ ยังเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนให้ได้บริโภคไข่ไก่สดในราคาที่เหมาะสม ที่จะเกิดประโยชน์แก่โรงเรียน และชุมชนต่อไปในอนาคต

///////////////////////

More Stories

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.