ธันวาคม 3, 2024

รมว. “ศุภมาส” ให้ วศ.อว. พัฒนาอาหารชุมชนสู่อาหารแห่งอนาคต โชว์ เศษดักแด้หนอนไหมอีรี่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนสูง ปลอดภัย รสชาติอร่อย พร้อมดันเข้าสู่ตลาดโลก

วันที่ 22 มีนาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัจจุบัน นวัตกรรม “อาหารแห่งอนาคต (Future Food)” ในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก อีกทั้งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก จึงได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ขับเคลื่อนสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ด้วยการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสู่การพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอาหารชุมชน สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีโอกาสพัฒนานวัตกรรมอาหารในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างตรงความต้องการของตลาด และสามารถสร้างความได้เปรียบในตลาดภายในประเทศและตลาดโลก    นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของ ท่านรัฐมนตรี อว. กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารในเมืองนวัตกรรมอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคโดยการนำวัตถุดิบอาหารแมลงที่มีโปรตีนสูงและเป็นส่วนเหลือจากกระบวนการผลิตเส้นไหมมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพความปลอดภัย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนพัฒนาเทคนิคการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพให้ทันสมัย จะเป็นการผลักดันธุรกิจอาหารของประเทศให้เข้มแข็งเติบโตอย่างยั่งยืน

ล่าสุด ทีมนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการอาหาร วศ. ได้ร่วมมือกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 5 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น ถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวโปรตีนสูงจากหนอนไหมอีรี่ ให้กับผู้ประกอบการกลุ่มทอผ้าบ้านหนองหญ้าปล้อง อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น โดยใช้โรงงานต้นแบบอาหารเพื่อให้ผู้ประกอบการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ฯ ไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวโปรตีนสูงจากหนอนไหมอีรี่ในเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ จากนี้ทีมวิจัยฯ ได้ตั้งโจทย์ร่วมกับกลุ่มทอผ้าบ้านหนองหญ้าปล้องฯ ในการนำหนอนไหมอีรี่มาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมาะสมกับตลาดชุมชน ทางกลุ่มมีการเลี้ยงหนอนไหมอีรี่ทั้งชุมชน มีการผลิตดักแด้เพื่อนำมาทอเป็นผ้าไหมอีรี่ส่งขายตลาดภายในและต่างประเทศ แต่ในส่วนตัวดักแด้ที่เหลือจากการสาวไหมแล้ว มีปริมาณมากถึง 3-4 ตัน ต่อเดือน ซึ่งหนอนไหมอีรี่เป็นตัวดักแด้มีโปรตีนสูงถึงร้อยละ 70 จึงมีสามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจำหน่าย ลดการตกค้างของตัวดักแด้จำนวนมาก

ทีมวิจัยฯ ได้นำตัวดักแด้จากหนอนไหมอีรี่มาวิจัยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวโปรตีนสูงจากหนอนไหมอีรี่ ผ่านกระบวนการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสกับผู้บริโภค ในห้องปฏิบัติการทดสอบรสชาติอาหารไทย และทดสอบคุณภาพความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ในห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพอาหาร ของ วศ. ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวโปรตีนสูงจากหนอนไหมอีรี่ที่มีคุณภาพความปลอดภัย รสชาติเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและเก็บรักษาไว้ได้นาน

นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการฯ ทั้งนี้ วศ. จะขับเคลื่อนสร้างความร่วมมือ ด้วยการนำความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสู่การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอาหารชุมชนให้เกิดความครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน
.

More Stories

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.